สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544


เหตุผลในการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ. 2544” คือเพื่อรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการทำธุรกรรมหรือสัญญา
ให้มีผลเช่นเดียวกับการทำสัญญาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายปัจจุบัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) กำหนดไว้ ได้แก่
การทำเป็นหนังสือ หลักฐานเป็นหนังสือ การลงลายมือชื่อ
กล่าวคือถ้ามีการทำสัญญาระหว่างบุคคลที่ใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของกฎหมายแล้ว
กฎหมายนี้ถือว่าการทำสัญญานั้นได้ทำตามหลักเกณฑ์ข้างต้นของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว
เป็นผลทำให้สัญญานั้นมีผลสมบูรณ์หรือใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้
เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด สรุปเนื้อหาโดยย่อ
ดังนี้

หมวด 1 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(มาตรา 7 - 25)

การรับรองรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ที่มีการรับ การส่งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหนังสือ
หรือหลักฐานเป็นหนังสือ (มาตรา 8)
การยอมรับผลทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
(ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์) ให้ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อตามกฎหมาย
หากใช้วิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (มาตรา 9)
การนำเสนอและเก็บรักษาข้อความที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อย่างต้นฉบับเอกสาร
(มาตรา 10, 12)
การรับ การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (มาตรา
15-24)
ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำตามวิธีการที่น่าเชื่อถือ
(มาตรา 25)
หมวด 2 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
(มาตรา 26 - 31) (กรุณาดู หัวข้อ 6.4
และ 6.6)

หมวด 3 ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(มาตรา 32 - มาตรา 34) (กรุณาดู หัวข้อ 6.5)

หมวด 4 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ
(มาตรา 35) (กรุณาดู หัวข้อ 6.7)

หมวด 5 คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(มาตรา 36 - 43)

หมวด 6 บทกำหนดโทษ (มาตรา 44 - 46)

4. ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์คืออะไร
สามารถใช้แทนลายมือชื่อในสัญญาได้หรือไม่ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544

คำว่า “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” ตามพระราชบัญญัติ นี้หมายถึง
“ อักษร อักขระ ตัวเลข
เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ” (มาตรา 4)

จากความหมายข้างต้นสามารถสรุปลักษณะของ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์”
ตามกฎหมายฉบับนี้ ได้ดังนี้
1. เป็นอักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดในรูปของอิเล็กทรอนิกส์
มีความหมายต่างจากลายมือชื่อตามกฎหมายเดิมคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9
2. วัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์คือ
เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
แม้ว่าจะมีการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ข้างต้นก็ตาม แต่ลายมือชื่อฯ
ที่จะถือเป็นลายมือชื่อที่มีผลทางกฎหมาย จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ (มาตรา 9) คือ
“ (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ
และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน
และ
(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี ”

ลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือได้มีมาตราที่เกี่ยวข้องคือ
มาตรา 25, มาตรา 26 และมาตรา 29
คู่กรณีที่เกี่ยวข้องยังสามารถใช้วิธีการใดๆ
ที่เข้าลักษณะและเงื่อนไขของกฎหมายได้ แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือได้
แต่ก็ไม่ควรจำกัดการใช้เทคโนโลยีใดโดยเฉพาะตามหลักการเรื่อง ‘Technology
Neutrality’ คือการไม่ถือเอาเทคโนโลยีหนึ่งเทคโนโลยีใด
เป็นเกณฑ์พิจารณาความน่าเชื่อถือว่าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งบทบัญญัติ
มาตรา 26 ก็หาได้ระบุจำกัดวิธีการหนึ่งวิธีการใดไว้ไม่

ไม่มีความคิดเห็น: